เกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในวันพุธที่ 17 พฤษภาคม 2566 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
นายวีรวัฒน์ จีรวงส์ อายุ 71 ปี จบปริญญาตรี วท.บ. (เกษตรศาสตร์) คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปัจจุบันเขาอยู่ที่ หมู่ 5 ตำบลทะเลทรัพย์ อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและมีครอบครัว ต้องทำงานรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในครอบครัว เพื่อให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเริ่มต้นทำงานเพื่อหาประสบการณ์ภายนอก เช่น พนักงานสินเชื่อ (ธกส.), พนักงานฝึกอบรมสหกรณ์ (สถาบันฝึกอบรมสหกรณ์การเกษตรแห่งชาติ),พนักงานส่งเสริมการขาย ( บริษัทเคมีเกษตร )
และเมื่อพ่อของเขา ทวี จีรวงส์ มีอายุมากขึ้นจึงกลับเข้ามาดูแลสวนในปี พ.ศ.2530 เริ่มจากการพัฒนาระบบน้ำในสวนทุเรียน ต่อมาเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 ประสบวาตภัยพายุไต้ฝุ่นเกย์พัดถล่ม ส่งผลให้สวนผลไม้ของผู้เป็นบิดาที่ปลูกไว้ต้องล้มตายและบ้านเรือนพังเสียหาย จึงต้องเริ่มฟื้นฟูสวนและบ้านเรือนใหม่ โดยเริ่มสร้างตามกำลังที่มีต่อสู้ชีวิต ด้วยความประหยัด อดออม อดทน และค่อย ๆ สะสมเครื่องมือเครื่องทุ่นแรงและพัฒนาสวน ใช้ชีวิตแบบพอประมาณในการฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อฟื้นฟูอาชีพและดูแลครอบครัว ด้วยประสบการณ์และดำเนินกิจกรรมด้านการเกษตรเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้การดำเนินชีวิตต้องมีการวางแผนบริหารจัดการกิจกรรมต่าง ๆ โดยใช้หลักเหตุและผลพิจารณาวางแผนให้รอบคอบก่อนดำเนินกิจกรรมใด ๆ ซึ่งกิจกรรมในพื้นที่ได้ทำการเกษตรแบบผสมผสาน ในนาม “สวนทวีทรัพย์” โดยปลูกไม้ผลชนิดต่าง ๆ เช่น ทุเรียน มังคุด ส้มโชกุน สละพันธุ์สุมาลี ลองกอง หม่อนผลสด ปาล์มน้ำมัน และยางพารา เป็นต้น เพื่อลดความเสี่ยงด้านราคาผลผลิตขึ้นลง ปัญหาผลผลิตลดลงจากโรคแมลงศัตรูพืชและดินฟ้าอากาศแปรปรวน จึงวางแผนทำให้สวนมีรายได้รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายปี ให้มีเงินหมุนเวียนได้ตลอดปี เน้นการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพปลอดภัย ตามมาตรฐาน GAP เพื่อความยั่งยืนในอาชีพ เป็นบุคคลตัวอย่างที่มีความขยันหมั่นเพียร มีความคิดที่จะพัฒนาตนเองตลอดเวลา สร้างรายได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้าโดยการแปรรูปผลผลิต เป็นต้นแบบของเกษตรกรทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ พร้อมทั้งส่งเสริม/เผยแพร่ให้คนในชุมชน เป็นเกษตรกรต้นแบบ Smart Farmer & Smart Officer
ผลงานสร้างคุณประโยชน์
เขายังคิดค้นและพัฒนาองค์ความรู้วงจรการผลิตทุเรียนคุณภาพสวนทวีทรัพย์ ตามมาตรฐาน GAP ( Premium Durian Cycle ; PDC ) เพื่ออธิบายวงจรการผลิตทุเรียนในรอบ 1 ปี ทำให้ทราบวงจรการเจริญเติบโตของทุเรียนและแนวปฏิบัติหลักในการบริหารจัดการทำให้ง่ายต่อการวางแผน การจัดการผลผลิตทุเรียน และการบริหารจัดการสวนแบบเกษตรอุตสาหกรรม สู่ความยั่งยืน มั่นคงตามแนวทาง BCG MODEL นวัตกรรมการห่อผลทุเรียนใช้กระดาษห่อผลไม้สีขาวที่ฆ่าเชื้อเคลือบผิวมัน ด้านนอกระบายน้ำและอากาศได้มาห่อผลทุเรียน ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันแมลงศัตรูทุเรียนได้ ทำให้ลด การใช้สารกำจัดศัตรูพืชปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานในสวนและผู้บริโภค นำเทคโนโลยีอากาศยาน “โดรน” มาใช้ในการกำจัดแมลงศัตรูพืชและโรคพืช และจัดอบรมการใช้เทคโนโลยีอากาศยานโดรน ให้กับกลุ่มเกษตรกร นักเรียน และนักศึกษา ที่สวนทวีทรัพย์และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร
การกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน Integrated Pest Management : ( IPM ) ได้แก่ นำเศษวัสดุในสวน เช่น ผลและกิ่งทุเรียนที่ตัดแต่งทิ้งมาเผาทำถ่านไบโอชาร์ ทำให้ได้ถ่านที่มีคุณภาพที่ใช้ในครัวเรือน และน้ำส้มควันไม้เพื่อนำไปใช้ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชในสวน การใช้ฟีโรโมนเพื่อดักจับแมลงวันผลไม้ตัวผู้เพื่อลดประชากรแมลงวันผลไม้ ใช้กรงดักแมลงเพื่อดักจับแมลงผีเสื้อมวนหวาน การตัดหญ้าและวัชพืช เพื่อกำจัดที่อยู่อาศัยของแมลงและโรคพืช ด้านการเพิ่มมูลค่าผลผลิต โดยการแปรรูปผลผลิตเกษตร เช่น ทุเรียนแช่เยือกแข็ง และทุเรียนฟรีซดรายแล้ว ยังนำผลไม้ชนิดอื่น ๆ ในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียงมาแปรรูปอีก เช่น มะม่วงฟรีซดราย มังคุดฟรีซดราย สับปะรดฟรีซดราย และเงาะไส้สับปะรดฟรีซดราย ได้นำร่องจำหน่ายทุเรียนคุณภาพเกรดพรีเมี่ยมให้กับห้างโมเดิร์นเทรด ห้างท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด เพื่อจำหน่ายสู่ผู้บริโภคตามห้างสรรพสินค้า Tops สาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในนามแบรนด์สวนทวีทรัพย์ ขายออนไลน์ผ่านเพจสวนทุเรียน สวนทวีทรัพย์ชุมพร Suantaweesup Durian Farm, ผ่านเพจ MeZ Fruit, ผ่านแพลตฟอร์มเว็บไซต์เกษตรกรออนไลน์ ของกรมส่งเสริมการเกษตร, ผ่านแพลตฟอร์ม 2๔ shopping ของ 7-eleven
และร่วมทำงานวิจัยต่าง ๆ ดังนี้ งานวิจัยกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยนำดอกทุเรียนที่มีปริมาณมากเกินพอแล้วตัดแต่งทิ้งมาเพิ่มมูลค่า ทำงานวิจัยเรื่อง การพัฒนานำสารสกัดและพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำหอมจากดอกทุเรียน และทำงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาสารสกัดและพัฒนาผลิตภัณฑ์เจลหอมบำรุงหน้า จากสาร Polysaccharides จากเปลือกทุเรียนที่เหลือทิ้งจากสวนจังหวัดชุมพร งานวิจัยร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร เรื่องการใช้เปลือกทุเรียนปรับปรุงคุณภาพเป็นอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้อง (วัวเนื้อวัวนม) ทำให้เพิ่มปริมาณโปรตีนในอาหารสัตว์ และป้องกันรักษาโรคเต้านมอักเสบได้, งานวิจัยร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯและวิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร เรื่อง “การพัฒนาทุเรียนหมอนทอง ตัดแต่งผลสดพร้อมบริโภคเพื่อการค้า” ทำให้สามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น, งานวิจัยร่วมกับคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โครงการศึกษาเกณฑ์น้ำหนักแห้งของทุเรียนพันธุ์หมอนทอง กระดุมทอง ชะนี พวงมณี และก้านยาว เพื่อเป็นเกณฑ์บ่งชี้คุณภาพ โดยร่วมสนับสนุน ดร.พีรพงษ์ แสงวนางค์กูล เพื่อศึกษามาตรฐานสินค้าทุเรียน (เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง เพื่อกำหนดความสุกแก่ของทุเรียนพันธุ์ต่างๆ), เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณาหลักสูตรเทคโนโลยีการผลิตพืช สถาบันเทคโนโลยีพระเจ้าเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
เขาเป็นคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ทั้งในระดับชุมชน ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ดังนี้
เป็นประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร, เป็นประธานวิสาหกิจชุมชนปาล์มน้ำมันทะเลทรัพย์, ที่ปรึกษาแปลงใหญ่ทุเรียนทะเลทรัพย์, นายกสมาคมชาวสวนไม้ผลจังหวัดชุมพร, กรรมการสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย, ที่ปรึกษาสมาคมทุเรียนใต้, ที่ปรึกษาสมาคมทุเรียนไทย, รองประธานสถาบันทุเรียนไทยประจำจังหวัดชุมพร, คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการไม้ผล (Fruit Board) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3 วาระ วาระละ 2 ปี, คณะกรรมการวิชาการพิจารณาสินค้าเกษตร เรื่องทุเรียน ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.), คณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (ชุมพร), คณะทำงานวิเคราะห์สถานการณ์และแนวทางแก้ไขปัญหาการกระจายผลผลิตทางการเกษตร จังหวัดชุมพร และร่วมจัดทำหนังสือกับสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร เรื่องคู่มือการผลิตทุเรียนคุณภาพ จังหวัดชุมพร, ได้รับประกาศเกียรติคุณรางวัลศิษย์เก่าเกียรติยศ ด้านวิชาชีพ จากสมาคมศิษย์เก่าคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, รางวัลศิษย์เก่าแห่งความภูมิใจ สมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2565 สาขาอาชีพทำสวน
การขยายผลงาน
นายวีรวัฒน์ จีรวงส์ เป็นเกษตรกรผู้ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการผลิตทุเรียน การแปรรูป และการตลาด แบบครบวงจร ผลิตทุเรียนคุณภาพตามมาตรฐาน GAP ( Premium Durian Cycle ; PDC ) และบริหารจัดการสวนแบบเกษตรอุตสาหกรรมตามแนวทาง BCG MODEL สวนทวีทรัพย์ ของนายวีรวัฒน์ เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อ.ปะทิว จ.ชุมพร แหล่งศึกษาดูงานเกษตรผสมผสานด้านไม้ผล แก่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย โรงเรียน เกษตรกรทั่วไปที่สนใจ ทั้งภายในจังหวัด ต่างจังหวัด และต่างประเทศ มีเกษตรกรมาศึกษาดูงานเฉลี่ยปีละ 1,000 คน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และได้รับมาตรฐาน SHA Plus มาเยี่ยมชม ชิม แชร์ และ ช้อป ผลไม้ต่าง ๆ ในสวน เช่น ทุเรียน มังคุด ส้มโชกุน สละ และผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปต่างๆ
ทั้งนี้ยังมีการถ่ายทอดผลงานผ่านสื่อที่หลากหลายและต่อเนื่อง เช่น บทความ วารสาร โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิทรรศการ และผ่านทางสื่อโซเซียล ต่างๆ เช่น Facebook, Youtube, Line จึงมีกลุ่มเครือข่ายที่นำองค์ความรู้ไปปฏิบัติกระจายไปอย่างกว้างขวาง เช่น กลุ่มชมรมคนรักทุเรียน จำนวน 483 ราย กลุ่มเพื่อนชาวสวนทุเรียนชุมพร จำนวน 472 ราย กลุ่มปลูกทุเรียนออร์แกนิค จำนวน 230 ราย กลุ่มทุเรียนทะเลทรัพย์ จำนวน 183 ราย ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อ.ปะทิว จำนวน 54 ราย สมาคมชาวสวนไม้ผลชุมพร จำนวน 416 ราย CFGA (สมาคมชาวสวนไม้ผล) 73 ราย เครือข่ายกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนจังหวัดชุมพรและจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ เป็นต้น นายวีรวัฒน์ จีรวงส์ ได้ถูกเชิญเป็นวิทยากรไปบรรยายให้ความรู้ด้านการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องทุเรียนและมังคุด และเป็นวิทยากรร่วมเสวนาให้กับองค์กรต่างๆ ทั้งในจังหวัดชุมพร ต่างจังหวัดและระดับประเทศ ทั้งด้านการผลิต ด้านการตลาด และด้านการแปรรูป