กรมปศุสัตว์ยืนยันมีการสุ่มตรวจสอบสถานะภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังฉีดวัคซีนในสุนัข เผยมีใบรับรองคุณภาพวัคซีนจากประเทศผู้ผลิต นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ได้กำหนดให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ต้องได้คุณภาพและมาตรฐานตามข้อกำหนดขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) การนำเข้าวัคซีน และจะต้องมีใบรับรองคุณภาพวัคซีนจากประเทศผู้ผลิตในยุโรปและอเมริกาแล้ว รวมถึง ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนและรับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ วัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันกรมปศุสัตว์เป็นผู้จัดซื้อ จำนวน 1 ล้านโดส ส่วนที่เหลือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานพยาบาลสัตว์เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งวัคซีนทั้งหมดได้ถูกกระจายและนำไปใช้ยังพื้นที่ ทั่วประเทศแล้ว โดยการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องโรคพิษสุนัขบ้านั้น จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ซึ่งกรมปศุสัตว์พร้อมรับข้อคิดเห็นต่าง ๆ และจะนำไปปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินการ รวมถึงการแก้ไขปัญหาอุปสรรคอย่างต่อเนื่องต่อไป
ด้านนายสัตวแพทย์บรรจง จงรักษ์วัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์ได้ตรวจสอบผลการใช้วัคซีน โดยสุ่มตรวจสอบสถานะภูมิคุ้มกันโรคหลังฉีดวัคซีนในสุนัข เจาะเลือดตรวจภูมิคุ้มกันในซีรั่มและตรวจยืนยันด้วยวิธีทดสอบตามมาตรฐานสากล ตั้งแต่เดือน ม.ค.– มิ.ย. 61 ซึ่งพบว่ามีภูมิคุ้มกันในระดับที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์ขอแนะนำให้ประชาชนนำสัตว์ไปฉีดวัคซีนตามโปรแกรมอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เน้นว่าโปรแกรมที่ถูกต้องคือ สุนัขและแมวต้องได้รับวัคซีนเข็มแรกเมื่ออายุ 2 – 3 เดือน และฉีดกระตุ้นซ้ำอีก 1 เข็ม ห่าง 1 เดือน หลังจากนั้น ต้องฉีดกระตุ้นซ้ำทุกปี ซึ่งหากสัตว์เลี้ยงถูกสุนัขอื่นกัดก็ต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำทันทีตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ ย้ำว่า การส่งซากสัตว์หรือหัวสุนัขเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้า ไม่มีการลดจำนวนส่งตรวจเพื่อให้ผลบวกลดลงแต่อย่างใด โดยขอให้ส่งตรวจหัวสุนัขที่แสดงอาการหรือสงสัยทุกกรณี ไปยังสำนักงานปศุสัตว์หรือห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ในพื้นที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์พร้อมที่จะอำนวยความสะดวกในการส่งตัวอย่าง นอกจากนี้ จากการกำหนดให้พื้นที่พบผลบวกเป็นพื้นที่สีแดงนั้น ก็เพื่อเป็นการเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ฉีดวัคซีนในรัศมีที่กำหนดให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนสีเมื่อครบกำหนดเวลาหรือมีการลบพื้นที่เดิม ซึ่งเป็นแนวทางที่ใช้ในการติดตามความก้าวหน้าในการควบคุมโรคของเจ้าหน้าที่