วันนี้ 7 สิงหาคม 2561 เวลา 9.30 น. ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานพิธีเปิด และร่วมแสดงวิสัยทัศน์การใช้ยาปฎิชีวนะในวงการปศุสัตว์ ในการสัมมนาหลักสูตร "มุ่งมั่นรวมใจ สินค้าปศุสัตว์ไทย ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะ" พร้อมด้วยนายสมชวน รัตนมังคลานนท์ นายกสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายกสัตวแพทยสภา นายกสมาคมสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีก นายกสมาคมสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสุกรไทย โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ และผู้แทนสมาคมที่เกี่ยวข้อง จำนวน 300 คน
5 พันธมิตรด้านปศุสัตว์ผลึกกำลังเพื่อให้สินค้าปศุสัตว์เป็นอาหารปลอดภัย และประกาศเจตนารมณ์ ควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์ โดยสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปภัมภ์ฯ ร่วมกับ กรมปศุสัตว์ สัตวแพทยสภา สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีก และ สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกร ร่วมประกาศเจตนารมณ์ ควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์ ตั้งเป้าการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย ลดปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ลงร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ.2564
กรมปศุสัตว์เป็นองค์กรหลักที่ขับเคลื่อนการปศุสัตว์ไทย สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในตลาดโลก โดยมีภารกิจกำหนดทิศทาง นโยบาย ควบคุม กำกับ ส่งเสริม วิจัย ถ่ายทอดเทคโนโลยี พัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับการปศุสัตว์ เพื่อให้ปศุสัตว์และสินค้าปศุสัตว์มีมาตรฐาน ถูกสุขอนามัย ปราศจากโรค สารตกค้าง และสารปนเปื้อน มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
ซึ่งปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะ ถือเป็นปัญหาสำคัญ และกำลังอยู่ในความสนใจในระดับนานาชาติ ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย นอกจากนี้กรมปศุสัตว์ยังได้บรรจุโครงการ “การเลี้ยงสัตว์ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะในระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์” ลงในแผนปฏิบัติการการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 ด้วย
การจัดการสัมมนาครั้งนี้ “มุ่งมั่นร่วมใจ สินค้าปศุสัตว์ไทย ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะ” จัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักและความรู้ ความเข้าใจในการการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อลดการพบยาปฏิชีวนะตกค้างในสินค้าปศุสัตว์ และเพื่อลดปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะของภาค ปศุสัตว์ มุ่งสู่การเลี้ยงสัตว์ที่มีการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม (prudent use of antimicrobials) และร่วมแสดงวิสัยทัศน์ (vision) การใช้ยาปฏิชีวนะในวงการปศุสัตว์จากองค์กรสัตวแพทย์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากสัตวแพทย์ถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุม กำกับ ดูแล การใช้ยาปฏิชีวนะให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ตามความจำเป็นเท่านั้น
ทั้งนี้มั่นใจได้ว่ากรมปศุสัตว์ดำเนินการในการตรวจประเมิน รับรอง กำกับ ดูแล การผลิตสินค้าปศุสัตว์ตลอดทั้งห่วงโซ่ (All food chain) โดยเริ่มตั้งแต่โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มมาตรฐาน GAP รวมถึงสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม ที่เป็นภาคส่วนที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ ในส่วนของโรงฆ่าสัตว์ และสถานที่จำหน่ายสินค้าปศุสัตว์ เพื่อให้มีความปลอดภัยอาหาร (food safety) เหมาะสมต่อการบริโภค และได้มาตรฐานในระดับสากล