สารวัตรปศุสัตว์จังหวัดอุบลราชธานีฝังทำลายเนื้อหมูลักลอบนำเข้าข้ามโขง กว่า 4,000 กิโลกรัม
วันที่ 21 มกราคม 2566 นายสัตวแพทย์ สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้รับรายงานจากด่านกักกันสัตว์อุบลราชธานีว่า ได้ร่วมมือกับหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขงเขตอุบลราชธานี และฝ่ายความมั่นคง ดำเนินการฝังกลบซากสุกรแช่แข็ง 4,400 กิโลกรัมมูลค่า 1,100,000 บาท ที่ดำเนินการตรวจยึดได้เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 บริเวณชายแดนไทย-ลาวริมฝั่งแม่น้ำโขง ทางทิศเหนือบ้านคันพะลาน อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี
โดยเป็นซากสัตว์ที่ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักร เป็นความผิดมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และเป็นความผิดมาตรา 242 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ด้วย
ขณะที่ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่า รับขนส่งซากสุกรแช่แข็งดังกล่าวไปส่งห้องเย็นชื่อดังแห่งหนึ่งที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ด่านกักกันสัตว์อุบลราชธานี ในฐานะสัตวแพทย์ตามกฎหมาย ว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ ได้ทำการตรวจสอบซากสัตว์ดังกล่าว พบว่าไม่มีเอกสารหลักฐานใดๆ ที่รับรองสุขศาสตร์ซากสัตว์ จากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทำให้มีความเสี่ยง ต่อการนำเชื้อโรคระบาดสัตว์ เข้ามาในพื้นทีและไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค จึงเห็นสมควรให้ดำเนินการทำลายซากสัตว์ของกลางดังกล่าวโดยวิธีการฝังกลบ และได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย ในวันที่ 21 มกราคม 2566 บริเวณบ่อทิ้งขยะเทศบาลตำบลตระการพืชผล อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี
ในการนี้กรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการตามที่รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้มีการเข้มงวดกวดขันการลักลอบนำเข้าซากสุกรอย่างผิดกฎหมาย เพื่อเป็นการปกป้องผู้บริโภคและเกษตรกรเนื่องจากชิ้นส่วนเครื่องในและเนื้อสุกรที่ลักลอบนำเข้าโดยไม่ผ่านการตรวจสอบอาจมีเชื้อโรคระบาดต่อสัตว์และไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมถึงทำลายกลไกราคาสุกรภายในประเทศ สร้างความเสียหายต่อระบบการเลี้ยงสุกรของประเทศไทยอย่างมหาศาล
สำหรับวิธีการฝังทำลายชิ้นส่วนเครื่องในและเนื้อสุกรของกลางเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (World Organization for Animal Health หรือ WOAH) ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมในการทำลายซากและของเสียจากสัตว์ปริมาณมากที่สามารถทำได้ง่าย ประหยัดค่าใช้จ่าย มีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลเพิ่มเติม สามารถแจ้งได้ที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225-6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง