กระทรวงเกษตรฯ จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานีฯ บนพื้นที่ชุ่มนํ้าครั้งแรกของโลก

865502

 

 

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมาย นางสาวอนงค์นาถจ่าแก้ว ผู้ช่วยเลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานงานแถลงข่าวงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ.2569 โดยมี นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้นางวิลาวัณย์ ใคร่ครวญ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ร่วมแถลงข่าวถึงความพร้อมการจัดงานภายใต้แนวคิด “Diversity of Life, connecting people, water and plants for sustainable living ความหลากหลายแห่งสรรพชีวิต : สายสัมพันธ์แห่งผู้คน สายน้ำและพืชพรรณ สู่การดำรงชีวิตที่ยั่งยืน” พร้อมชูวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” รวมพื้นที่จัดงาน 1,030 ไร่ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ณ พื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ตำบลกุดสระ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี

การจัดงานดังกล่าวเพื่อนำความรู้แลกเปลี่ยนวิชาการและเทคโนโลยีสู่ระดับนานาชาติ โชว์ศักยภาพพืชสวนโลกโดยเฉพาะการจัดงานบนพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นครั้งแรกของโลก มุ่งสู่เป้าหมาย “เมืองอัจฉริยะศูนย์กลางการค้าการลงทุน การท่องเที่ยวและไมซ์ (MICE) ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง”ซึ่งตรงกับเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 10 ปีของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระชนมพรรษาครบ6 รอบ หรือ 72 พรรษา และวันครบรอบวันสถาปนาเมืองอุดรธานี 134 ปี โดยงานจัดขึ้นในช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569-14 มีนาคม 2570


นางวิลาวัณย์ ใคร่ครวญ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า “งานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569” สิ่งที่พิเศษที่สุดที่สะท้อนถึงความโดดเด่น คือ เป็นครั้งแรกที่งานมหกรรมพืชสวนโลกจัดขึ้นในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และเป็นงานพืชสวนโลกบนพื้นที่
ชุ่มน้ำครั้งแรกของโลก/Wet Land ณ พื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ตำบลกุดสระ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พื้นที่จัดงานรวม 1,030 ไร่ สำหรับการออกแบบพื้นที่และกิจกรรมแบ่งการใช้งานออกเป็นทั้งหมด 6 โซน โดยมีพื้นที่ไฮไลท์การจัดกิจกรรม ได้แก่ โซนพื้นที่ทางเข้า จุดประชาสัมพันธ์ จุดจำหน่ายบัตร, โซนสวนนานาชาติ สำหรับการประกวดสวนนานาชาติ, โซนอาคารเรือนกระจก (Greenhouse) สำหรับการประกวดพืช และอาคารอำนวยการ (Exhibition Building) สำหรับการประกวดสวนนานาชาติในอาคาร, โซนพื้นที่จัดแสดงนวัตกรรมทางการเกษตรที่ทันสมัย รวมไปถึงแปลงรวบรวมพันธุ์ การปลูกพืชผสมผสาน, โซนสวนการเกษตรไทย และอาคารหลักต่างๆ,โซนสวนป่าคาร์บอนเครดิตและเรือนเพาะชำรวมถึงพื้นที่ไฮไลท์การจัดกิจกรรมตลอดทั้งงาน

นอกจากนี้ “งานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569” ยังมีจัดกิจกรรมการประกวดออกแบบมาสคอตเปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาประชาชนทั่วไป ในนามบุคคลหรือกลุ่ม ได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ ออกแบบมาสคอตให้สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ของโครงการฯ“ความหลากหลายแห่งสรรพชีวิต สายสัมพันธ์แห่งผู้คน สายน้ำ และพืชพรรณ สู่การดำรงชีวิตที่ยั่งยืน” เพื่อชิงเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท โดยสามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์-1 เมษายน 2568

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า งานนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระดับนานาชาติร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อต่อยอดงานวิจัยและการพัฒนาพืชสวนของไทย โดยมีเป้าหมายหลักในครั้งนี้ คือ สร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ให้เป็นศูนย์กลางด้านการค้าการลงทุนของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง การนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของคนในท้องถิ่น ซึ่งครั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร เชื่อมั่นว่าทุกภาคส่วนพร้อมร่วมมือและขับเคลื่อนในการจัดงาน มีกรอบการทำงานชัดเจน หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เน้นย้ำว่าประเทศไทยยืนยันในความพร้อม และสร้างความมั่นใจให้แก่คณะกรรมการ AIPH ในการดำเนินการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานีให้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์และทันในการเปิดงานภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 อย่างแน่นอน

นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า จังหวัดอุดรธานีมีความพร้อมในการจัดงานในทุกด้าน โดยในด้านลักษณะทางกายภาพที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของจังหวัดอุดรธานี คือ พื้นที่ชุ่มน้ำ(Wetland) หรือที่ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า“ป่าบุ่ง ป่าทาม” ที่มีอยู่กว่า 900 จุด รวมเป็นพื้นที่กว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งพื้นที่ชุ่มน้ำ คือ พื้นที่บริเวณรอยต่อระหว่างพื้นที่บกและพื้นที่น้ำ เป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลาย และก่อให้เกิดประโยชน์แก่มนุษยชาติมากมายในด้านการดำเนินชีวิต การหลอมรวมเป็นหนึ่งของวิถีชีวิตและธรรมชาติ ยกระดับวิถีชุมชนและถ่ายทอดอัตลักษณ์ของชุมชน ต่อยอดสู่แนวคิดวิถีชีวิตสีเขียว (Green Living) ที่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลของ “มนุษย์” ในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติที่มีความหลากหลายอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ จังหวัดอุดรธานียังมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น คือ ดอกบัวแดง และศิลปะบนเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง มาผสมผสานจนเกิดเป็นสัญลักษณ์ดอกบัวลายไหบ้านเชียงซึ่งดอกบัวแดง สื่อถึงทะเลบัวแดง ที่ได้รับการจัดอันดับโดย CNN ให้เป็น 1 ใน 15 ทะเลสาบที่แปลกที่สุดในโลก เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดอุดรธานีที่มีชื่อเสียงระดับโลก

journal

reportDLD

reportBLSCn

opendata dld