ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2561 อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผย สนช.อยู่ระหว่างการจัดทำร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ... ซึ่งเป็นฉบับแก้ไข บังคับให้ต้องขึ้นทะเบียนสัตว์ทุกประเภท ไม่เว้นแม้แต่สัตว์จรจัด ท้องถิ่นต้องรับผิดชอบ รวมทั้ง ห้ามเลี้ยงสัตว์แออัดเกินขนาดพื้นที่ กม.กำหนด หากไม่ทำมีโทษทอย.ยัน วัคซีนนำเข้ามีคุณภาพไม่มีผลทำสัตว์ตาย
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การบูรณาการการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า พื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่รอยต่อ” ว่า สถานการณ์การฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในประชากรสัตว์ทั้งหมดในประเทศ โดยเฉพาะสุนัขและแมว รวมกว่า 10 ล้านตัว เราตั้งเป้าหมายไว้ที่ร้อยละ 80 ซึ่งขณะนี้สามารถดำเนินการได้แล้วประมาณกว่าร้อยละ 70 หรือประมาณ 8 ล้านตัว ถ้าการฉีดวัคซีนครอบคลุมก็จะช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคพิษสุนัขบ้า แต่ต้องดำเนินการควบคู่กับการทำหมันสัตว์ และการสำรวจประชากรสุนัขและแมว ซึ่งขณะนี้สภานิติบัญญัติ (สนช.) อยู่ระหว่างการจัดทำร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ... ซึ่งเป็นฉบับแก้ไข โดยจะผลักดันให้ออกและบังคับใช้ภายในปี 2561 นี้ หรืออีกภายใน 4 เดือน
ทั้งนี้สาระสำคัญ คือ การกำหนดให้ต้องขึ้นทะเบียนสัตว์ ซึ่งที่ผ่านมาเรายังไม่มีการบังคับ หากไม่ขึ้นทะเบียนจะมีโทษตามกฎหมาย อยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายอยู่ว่าต้องปรับเท่าไหร่ แต่คงเป็นระดับที่ทำให้เจ้าของมีความตระหนักซึ่งการขึ้น ทะเบียนสัตว์จะทำให้สามารถแยกสัตว์เลี้ยงที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของได้ และสามารถควบคุมโรคต่างๆ ได้โดยง่าย สำหรับสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ เช่น สุนัขจรจัด หากขึ้นทะเบียนแล้วจะเป็นหน้าที่ของส่วนท้องถิ่นที่จะต้องดูแล โดยรัฐบาลอาจจะจัดงบประมาณส่วนหนึ่งให้ท้องถิ่นไปดูแล
อย่างไรก็ตาม การขึ้นทะเบียนสัตว์อาจมีการกำหนดในเรื่องของค่าธรรมเนียม และมีการสอบถามถึงความสามารถในการเลี้ยงสัตว์ว่าเป็นอย่างไร เพราะการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่เกินตัว จะทำให้เลี้ยงได้ไม่ดีพอ ซึ่งในหมวดของสวัสดิภาพสัตว์อาจจะต้องมีการออกกฎหมายลูกตามมา เช่น กำหนดว่าพื้นที่ขนาดเท่านี้สามารถเลี้ยงสัตว์ได้กี่ตัว สัตว์จะอยู่อย่างไรถึงจะมีอิสรภาพ เป็นต้น แต่ยืนยันว่ากฎหมายไม่มีการพูดถึงการเลี้ยงสัตว์มากกว่า 1 ตัวต้องเสียภาษีแต่อย่างใด
นายสัตวแพทย์สรวิศกล่าวถึงกรณีกระแสข่าวว่ากรมปศุสัตว์นำเข้าวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในสัตว์ 10 ล้านโดส แต่ยังไม่มีการกระจายลงไปในพื้นที่ ว่า ขอชี้แจงก่อนว่า กรมปศุสัตว์มีการนำเข้าวัคซีนสัตว์ 1ล้านโดส อีก 9ล้านโดสเป็นของท้องถิ่นจัดซื้อเอง ซึ่งจะใช้กระจายลงไปในในพื้นที่ควบคุมประกาศเป็นเขตระบาดในสัตว์จรจัด ซึ่งพบว่าหลังจากฉีดแล้วสัตว์จะมีภูมิคุ้มกัน จากข้อมูลทางวิชาการพบว่าการจัดซื้อมีภูมิคุ้มกัน สามารถคุ้มกันโรคได้ ส่วนที่มีกระแสบอกแล้วพบว่ามีสัตว์ตายนั้นยังไม่ได้รับรายงานว่ามาจากวัคซีนอาจจะมีสาเหตุอื่น สัตว์อาจจะป่วยด้วยโรคที่รุนแรงที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ลำไส้อักเสบ หัดสุนัข เป็นต้น
นอกจากนี้วัคซีน 1ล้านโดสที่นำเข้ามานั้นมีที่มาที่ไป มีข้อมูลชัดเจนว่าใช้ฉีดที่ไหนบ้าง ทั้งนี้ระบบการนำเข้ามามีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการตรวจคุณภาพเบื้องต้น ที่บอกว่าไม่มีคุณภาพไม่ทราบว่าเอาข้อมูลมาจากไหนส่วนประสิทธิภาพของวัคซีนที่ท้องถิ่นจัดซื้อนั้น ยืนยันว่ามีคุณภาพเช่นกัน เรพาะใช้สเปกเดียวกับกรมปศุสัตว์และต้องผ่าน อย.เช่นกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีพื้นที่ระบาดไม่ส่งตรวจหัวสุนัข เราะคิดว่าระบาดอยู่แล้ว นส.พ.สรวิศ กล่าวว่า ได้กำชับปศุสัตว์จังหวัดทุกแห่งว่า ทุกเคสถ้าสงสัยให้ส่งตรวจทั้งหมด ส่วนสถานการณ์การระบาดในสัตว์นั้น มีพื้นที่เกิดโรค 19 จังหวัด รวม 30 จุด ซึ่งมีการเปิดเผยชัดเจน ส่วนพื้นที่ที่ไม่เคยพบเลยมี 20 จังหวัด เช่น สกลนคร เป็นต้น.
ด้าน นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหาร และยา(อย.) เปิดเผยว่า การขึ้นทะเบียนนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำหรับสัตว์นั้นอย. จะพิจารณาข้อมูลและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น หนังสือรับรองผลิตภัณฑ์ยา หนังสือรับรองการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในประเทศที่มีผลิตภัณฑ์วางจำหน่าย หนังสือรับรองมาตรฐานการผลิตที่ดีของผู้ผลิตออก โดยหน่วยงานรัฐของประเทศผู้ผลิตในต่างประเทศ เอกสารหลักฐานแสดงข้อมูลคุณภาพการผลิตของวัคซีน รวมไปถึงเอกสารด้านความปลอดภัย และเอกสารด้านประสิทธิภาพการรักษาในสัตว์ทดลองที่ดำเนินการศึกษาในห้องปฏิบัติการและในภาคสนาม (field trial) เพื่อเป็นการยืนยันว่าขนาดและวิธีการให้วัคซีนดังกล่าวมีความปลอดภัยเมื่อนำมาใช้จริงในสุนัข และ เพื่อเป็นการรับรองว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีการผลิตเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานที่ขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งนอกจากจะดูในเรื่องเอกสารจากต่างประเทศแล้ว ขณะเดียวกันจะต้องมีการสุ่มตรวจในประเทศด้วย
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการอย. กล่าวเพิ่มเติมว่า วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จัดเป็นยาแผนปัจจุบันสำหรับสัตว์ ประเภทยาชีววัตถุ ซึ่งแต่ละรุ่นการผลิตอาจมีความแปรปรวน จึงต้องมีการควบคุมคุณภาพแต่ละรุ่นการผลิตและมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมคุณภาพวัคซีนสำหรับสัตว์ โดย อย. จะทำการสุ่มตรวจวิเคราะห์ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในปี 2559 สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตรวจพบว่ายา DOG-VAC RABIA เลขทะเบียน 1F 6/53 (B) มีความแรงของวัคซีน (Potency) ต่ำกว่ามาตรฐาน สำนักยา อย. จึงเรียกเก็บยาคืนตั้งแต่ปลายปี 2559 และให้บริษัทฯ ผู้นำเข้าทำลายยาดังกล่าว รวมทั้งถอนทะเบียนวัคซีน และดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้นำเข้า ทั้งนี้ สำหรับวัคซีนพิษสุนัขบ้าสำหรับสัตว์ที่ อย. ขึ้นทะเบียนทั้งหมด อย. ได้ร่วมกับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมปศุสัตว์ ทำการสุ่มตรวจวิเคราะห์วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ขึ้นทะเบียนไว้ทั้งหมดที่มีการจำหน่าย พบว่ามีประสิทธิภาพตามมาตรฐานทุกผลิตภัณฑ์ ซึ่งปีนี้มีการตรวจเข้มข้นมากขึ้นทั้งในท้องตลาดและผู้นำเข้าพบว่ามีส่วนน้อยที่เกิดจากการเก็บรักษาวัคซีนที่ไม่เหมาะสม ทำให้วัคซีนไม่ผ่านเกณฑ์ และทาง อย. ได้ทำการแนะนำการขนส่งวัคซีนที่ดี หากวัคซีนที่เคยขึ้นทะเบียนแล้ว สงสัยในเรื่องคุณภาพมาตรฐาน อย.จะทำการรวบรวมข้อมูลและทบทวนทะเบียนตำรับยาโดยเร็ว