วันที่ 11 มิถุนายน 2561 เวลา 15.00น. นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะลงพื้นที่ตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ จังหวัดนครสวรรค์ และพิจิตร พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต รักษาการอธิบดีกรมปศุสัตว์ ,ปศุสัตว์เขต6 นายพนม มีศิริพันธ์ุ,ผอ.กผง.นายอวยชัย ชัยยุทโท,ผอ.กสก.นายวิวัฒน์ ชัยชะอุ่มและเจ้าหน้าที่ ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้
โดยตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่บ้านห้วยร่วม ตำบลห้วยร่วม อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ พบปะเกษตรกรเยี่ยมชมการดำเนินงานของกลุ่มและเครือข่าย ได้แก่ โรงสีข้าว การแปรรูปข้าว การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว และผลิตภัณฑ์ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง
นอกจากนี้เป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนรถ “โครงการคลังชุมชน” ภายใต้แผนปฏิบัติการป้องกันภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ 2561 จากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ชี้ชัดว่าประเทศไทยมีพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยแบบซ้ำซาก รวม 60 จังหวัด ซึ่งในพื้นที่เหล่านี้จะมีสัตว์เลี้ยงของเกษตรกรเป็นจำนวนมากที่จำเป็นต้องให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยในปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้มีการสำรองเสบียงสัตว์ไว้คอยให้ความช่วยเหลือเกษตรกร รวม 4,303,100 กิโลกรัม สามารถใช้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ประสบภัย ได้จำนวน 172,124 ตัว ในระยะเวลา 5 วันสำหรับการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดอุทกภัย เกษตรกรจะต้องเดินทางมารับเสบียงสัตว์ด้วยตนเอง ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ในแต่ละพื้นที่ แต่เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและเป็นต้นแบบในการสำรองเสบียงสัตว์ กรมปศุสัตว์ได้จัดทำโครงการคลังเสบียงสัตว์ประจำตำบลขึ้นทั่วประเทศ เมื่อปี 2555 เป็นต้นมา จำนวน 58 แห่ง/ปี โดยพื้นที่เป้าหมายหลัก เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก โดยมีแนวทางในการดำเนินการดังนี้
1. สนับสนุนพันธุ์พืชอาหารสัตว์ให้เกษตรกรปลูกสร้างแปลงหญ้าของตนเอง
2. สนับสนุน แนะนำให้เกษตรกรมีการผลิตเสบียงสัตว์สำรอง
3. จัดตั้งคลังเสบียงสัตว์ประจำตำบล โดยการทำงานบูรณาการร่วมกันระหว่าง กรมปศุสัตว์ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ซึ่งมีการปล่อยขบวนเสบียงสัตว์เพื่อสำรองในคลังเสบียงสัตว์ประจำตำบล ในพื้นที่เขตภาคเหนือตอนล่าง จำนวน 6 แห่ง และหลังจากนี้กรมปศุสัตว์จะได้ดำเนินการส่งมอบเสบียงสัตว์ให้กับคลังเสบียงสัตว์ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามในกรณีที่เกิดภาวะวิกฤตฉุกเฉินเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือด้านเสบียงสัตว์ผ่านปศุสัตว์อำเภอและปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบได้จากศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ใกล้บ้าน ทั้ง 32 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีการให้บริการในรูปของหญ้าสด หญ้าหมักและหญ้าแห้ง
ณ กลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่บ้านห้วยร่วม อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์