กรมปศุสัตว์ โดยสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ นำเสนอการดำเนินงานการใช้หลักเศรษฐกิจ BCG model ขับเคลื่อนระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์อย่างเป็นรูปธรรม
วันที่ 13 ธันวาคม 2566 เวลา 14.00 น ณ ห้องประชุม 134 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวนฤมล สงวนวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานร่วมหารือกับ Mr.Ammala SAENGCHONGHACK รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และคณะจำนวน 16 ราย พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สพส.ได้มอบหมายนางสาวมณฑิรา ชินอรุณชัย และนายไกร ไขแสง นายสัตวแพทย์ชำนาญการ เป็นผู้แทนในการประชุมหารือวัตถุประสงค์ในการหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางปฏิบัติที่ดีด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) รวมถึงความมั่นคงทางด้านอาหารภายใต้ BCG ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้หลักเศรษฐกิจ BCG model เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ วันที่ 19 มกราคม 2564 นำมาพัฒนาฐานระบบเศรษฐกิจให้มีความสมดุลและยั่งยืน โดยเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจทั้ง 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) กรมปศุสัตว์ได้นำหลัก BCG model มาขับเคลื่อนงานระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์อย่างเป็นรูปธรรม เตรียมความพร้อมและสอดรับกับนโยบาย European green deal ดังนี้ 1) ด้านหลักเศรษฐกิจชีวภาพมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้การผลิตสินค้าปศุสัตว์ เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐาน เพิ่มมูลค่า ภายใต้แนวคิด value creation 2) ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการนำวัสดุและทรัพยากรที่เหลือใช้ นำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพมากที่สุด ลดการเกิดมลพิษ ของเสียและขยะให้เกิดน้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ บนแนวคิด Zero waste และ 3) ด้านเศรษฐกิจสีเขียว มีระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุล มั่นคง และยั่งยืน ตามหลัก Green livestock production โดยได้มีการนำร่องมาใช้ในระดับฟาร์ม และสถานประกอบการสำหรับคนบริโภค ซึ่งจะมีการขยายผลการรับรองไปยังส่วนอื่นๆ เพื่อจะได้ยกระดับและนำหลัก BCG model ไปใช้ได้ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่การผลิตต่อไป
ที่มา: กลุ่มรับรองด้านการปศุสัตว์ สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์