กรมปศุสัตว์-ฟาร์มไก่ ตั้งการ์ดสูงรับมือ “ไข้หวัดนก” รอบใหม่ แม้ประเมินการระบาดรอบนี้จะไม่รุนแรง แต่จำเป็นต้องวางมาตรการรับมือเข้มงวด ด้านสมาคมผู้ส่งออกไก่ยังยืนตัวเลขส่งออกโต 3% ขณะที่ “เบทาโกรเขมร” งัดระบบ Biosecurity ลดเสี่ยงเกิดโรคในฟาร์ม-โรงงาน
รายงานข่าวจากบลูมเบิร์กและสเตรตส์ไทมส์ อ้างรัฐมนตรีสาธารณสุขเขมร พบพ่อของเด็กหญิงวัย 11 ขวบ เสียชีวิตจากติดไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมกับกลุ่มเสี่ยงอีก 29 คน เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย 16 คน และผู้แสดงอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ 13 คน ที่เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสก็ไม่พบว่าติดเชื้อ ทำให้คลายความวิตกกังวลในข้อที่ว่าไวรัสติดต่อจากคนสู่คน แต่ประเทศไทยโดยกรมปศุสัตว์และผู้ประกอบการปศุสัตว์ในพื้นที่ก็ได้วางมาตรการรับมือไข้หวัดนกทันที
นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ประเมินว่า สถานการณ์การระบาดของไข้หวัดนกรอบนี้ยังไม่รุนแรงเท่าครั้งก่อนและได้วางมาตรการเข้มข้นเพื่อรับมือไว้แล้ว ด้วยการสั่งการเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังโรคสัตว์ปีกตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด จัดเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้าตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด สุ่มเก็บตัวอย่างสัตว์ปีกในพื้นที่เสี่ยง
เช่น พื้นที่ตามแนวชายแดน พื้นที่นกอพยพ พื้นที่นกวางไข่ พื้นที่ที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีกหนาแน่น นอกจากนี้ยังเข้มงวดการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ปีกภายในประเทศ รวมถึงให้ชะลอการนำเข้าสัตว์และซากสัตว์ปีกจากประเทศที่เกิดโรคไข้หวัดนกด้วย และการเลี้ยงสัตว์ปีกในระบบฟาร์มให้เข้มงวดความปลอดภัยทางชีวภาพขั้นสูงสุด
ด้านนายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า สมาคมยังประเมินไข้หวัดนกปีนี้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไก่เนื้อของไทย แต่ยังคงคาดการณ์การส่งออกจะเติบโต 3% จากปีก่อนที่ส่งออกสูงสุดถึง 1 ล้านตัน
เบื้องต้นไข้หวัดนกที่เกิดขึ้นรอบนี้จะส่งผลต่อไก่ไข่ในต่างประเทศมากกว่า เพราะระบาดในไก่ไข่ในต่างประเทศ หลายประเทศจึงมีจำนวนพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ลดลง อาจจะทำให้หลายประเทศเกิดปัญหาขาดแคลนไข่ไก่ในช่วง 1 ปีนี้ และต้องนำเข้ามากขึ้น จากปัจจุบันที่ไทยผลิตไข่ไก่เพื่อใช้ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ มีเหลือที่ส่งออกบ้างเพียงแค่ไม่มากนัก
เช่นเดียวกับรายงานข่าวระบุว่าบริษัทเบทาโกร จำกัด (มหาชน) มีการลงทุนฟาร์มในประเทศกัมพูชาผ่านบริษัทย่อยคือ บริษัทเบทาโกร (กัมพูชา) จำกัด มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ในกรุงพนมเปญและฟาร์มปศุสัตว์สุกรและสัตว์ปีก รวม 331 แห่ง และมีสาขาเบทาโกร 5 สาขา ในประเทศกัมพูชา นอกจากนี้ยังมีแผนจะก่อสร้างโรงงานอาหารสัตว์แห่งที่ 2 ในกัมพูชา
รวมถึงการลงทุนฟาร์มสุกรพ่อแม่พันธุ์ ฟาร์มสุกรขุน ฟาร์มไก่พ่อแม่พันธุ์ และโรงชำแหละสุกร, ไก่เนื้อ เพิ่มกำลังการผลิตสุกรได้ประมาณ 0.8 ล้านตัว และไก่ประมาณ 12.7 ล้านตัวต่อปี ภายในปี 2569 ขณะนี้บริษัทได้วางมาตรการป้องกันไข้หวัดนกอย่างเข้มข้นตามกลยุทธ์ Supply Chain Resilience
“ไข้หวัดนกรอบนี้จะไม่ส่งผลกระทบเพราะเบทาโกรอยู่ในธุรกิจอาหารและเกษตรอุตสาหกรรม จำเป็นต้องเผชิญกับความท้าทาย ทั้งในด้านความผันผวนของราคาวัตถุดิบและราคาสินค้าปศุสัตว์ รวมถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราจึงต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา จึงได้มีการกำหนดกลยุทธ์เพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจ
ภายใต้แนวคิด Betagro Powering Change คือ Supply Chain Resilience เป็นการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการอุปทานตลอดทั้งห่วงโซ่ เพื่อลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนของปัจจัยแวดล้อมต่อธุรกิจ การดูแลเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพและปศุสัตว์ เพิ่มความเข้มงวดรัดกุมของระบบ Biosecurity ให้มีประสิทธิภาพ”
ที่ผ่านมาเบทาโกรได้ดำเนินมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพเบทาโกร (Betagro Biosecurity Management) ลดความเสี่ยงการเกิดโรคในปศุสัตว์ โดยมุ่งเน้นการจัดการองค์รวม ทั้งการจัดการทางกายภาพ เช่น โครงสร้างฟาร์ม โครงสร้างโรงเรือน เป็นต้น การจัดการกระบวนการ เช่น การประเมินความเสี่ยงขั้นตอนการผลิตและกำหนดมาตรการควบคุม รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ ความรู้ ความสามารถของพนักงาน
โดยเฉพาะการป้องกันโรคเข้าสู่ฟาร์ม หรือการจำกัดการแพร่กระจายของโรคติดต่อตลอดทั่วห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่โรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์ม การจับ และการขนส่งยังโรงงานแปรรูป โดยวางองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ การแยกสัตว์ การควบคุมการขนส่ง และ การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ
นอกจากนี้ยังมีระบบการจัดการคุณภาพเบทาโกร (Betagro Quality Management : BQM) ในการผลิตสัตว์ปีกและไข่ไก่ ช่วยให้ความมั่นใจกับผู้บริโภค