นายสัตวแพทย์อภินันท์ คงนุรัตน์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ ร่วมประชุมหารือการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการรับรองและการดำเนินการเพื่อการส่งออกรังนกจากไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom meeting) ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2565 พร้อมด้วย นายธนศักดิ์ มังกโรทัย ผู้อำนวยการกองนวัตกรรมบริการภาครัฐ นางขนิษฐา งามวงศ์สถิต ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาระบบราชการ นายสัตวแพทย์อนุชา มุมอ่อน ผู้อำนวยการกลุ่มตรวจสอบมาตรฐานด้านการปศุสัตว์ นายสมเกียรติ กรอบแก้ว หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบบริหาร ผู้แทนจากสำนักงาน ก.พ.ร.
ผู้แทนจากกลุ่มตรวจสอบมาตรฐานด้านการปศุสัตว์ และกลุ่มรับรองด้านการปศุสัตว์ ณ ห้องประชุม สพส. ชั้น 3 ตึกวิจิตรพาหนการ กรมปศุสัตว์ เพื่อชี้แจงการดำเนินงานในการรับรองโรงงานรังนกเพื่อการส่งออก ขั้นตอนการรับรองโรงงานรังนกเพื่อการส่งออก การขึ้นทะเบียนแหล่งที่มาของรังนกและสถานประกอบการรังนกไปจีนผ่านระบบ CIFER สถานการณ์และการดำเนินการในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของกรมปศุสัตว์ และร่วมหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านการส่งออกรังนกจากไทยไปจีน โดยปัจจุบัน มีโรงงานรังนกที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์แล้วจำนวน 18 แห่ง (เป็นศูนย์รวบรวมรังนก (Edible bird’s nest collecting center) 8 แห่ง ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรังนก (Bird’s nest product processing plant) 8 แห่ง และเป็นศูนย์รวบรวมและผลิตเครื่องดื่มรังนก 2 แห่ง) ซึ่งมีโรงงานที่ผ่านการตรวจประเมินและได้รับการขึ้นทะเบียนสามารถส่งออกรังนกไปสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ 3 แห่ง เป็นศูนย์รวมรวมรังนกทั้งหมด
โดยหลังการหารือ สำนักงาน ก.พ.ร. และ สพส. จะร่วมกันทำ Flow chart ขั้นตอนการรับรองและการส่งออกรังนกโดยครอบคลุมทุกขั้นตอนตั้งแต่วัตถุดิบรังนก โรงงาน การรับรอง การขึ้นทะเบียน การออกใบรับรองสุขอนามัย ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อนำมาข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์หาสาเหตุปัญหา/อุปสรรคที่แท้จริง ต่อไป