นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานภาครัฐระบบราชการ 4.0 ที่มุ่งอำนวยความสะดวกและยกระดับคุณภาพให้บริการแก่ประชาชน พัฒนาระบบให้บริการอย่างต่อเนื่อง นำเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานให้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น โดยยึดผู้ใช้บริการหรือประชาชนเป็นศูนย์กลาง สามารถให้บริการเสร็จสิ้นเบ็ดเสร็จในจุดเดียว ประชาชนสามารถใช้บริการได้ตลอดเวลาและผ่านการติดต่อได้หลายช่องทางผสมผสาน ไม่ว่าจะมาติดต่อด้วยตนเอง อินเตอร์เน็ต เว็ปไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ ล่าสุดได้ยกระดับการให้บริการเปิดรับคำขอและออกใบรับรองสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบดิจิทัล เบ็ดเสร็จออนไลน์ผ่านระบบ Biz Portal จบเพียง 5 ขั้นตอน สามารถให้บริการตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป
การยื่นขอรับใบรับรองสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบดิจิทัล ผ่านระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) สามารถให้บริการทั้งการขอรับใบรับรอง/ต่ออายุใบรับรอง/ใบแทนใบรับรองสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เพียงใน 5 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ลงชื่อเพื่อเข้าสู่ระบบที่เว็ปไซต์ Bizportal.go.th โดยเลือกเข้าระบบด้วยบัญชีประชาชน สำหรับท่านใดที่ยังไม่มี Digital ID ให้ทำการสมัครเพื่อรับ Digital ID ก่อน เพื่อสามารถเข้าสู่ระบบ
ขั้นตอนที่ 2 เลือกหัวข้อ การขออนุญาตออนไลน์ คลิกที่หัวข้อการขออนุญาต/งานบริการใหม่ และเลือกหัวข้อการขอใบรับรองสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หรือการขอใบแทนใบรับรองฯ หรือผู้ขอต่ออายุใบรับรองฯ
ขั้นตอนที่ 3 ทำการกรอกแบบฟอร์มและอัปโหลดเอกสารแนบเพื่อยื่นคำขอ
ขั้นตอนที่ 4 ทำการติดตามสถานะ/รับทราบผลการตรวจสอบเอกสาร โดยสามารถเลือกการรับแจ้งได้ทางอีเมล์และ กล่องข้อความทางโทรศัพท์ SMS
ขั้นตอนที่ 5 การรับใบรับรองฯ อิเล็กทรอนิกส์ ผ่านทาง Bizportal.go.th
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นับว่าเป็นการยกระดับการให้บริการที่สะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ตอบสนองความต้องการประชาชนสามารถใช้บริการได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ ปัจจุบันให้บริการครอบคลุมในฟาร์มสัตว์เลี้ยงที่ได้มาตรฐาน GAP 16 ประเภท ได้แก่ สุกร โคเนื้อ โคนม แพะเนื้อ แพะนม แกะเนื้อ ไก่พันธุ์ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ไก่พื้นเมืองแบบเลี้ยงปล่อย เป็ดพันธุ์ เป็ดเนื้อ เป็ดไข่ ห่าน (ทุกสายพันธุ์) นกกระทา (ทุกสายพันธุ์) และผึ้ง (ทุกสายพันธุ์) รวม 23,246 แห่งทั่วประเทศ และมีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั้งหมดจำนวน 7,594 ราย
โดยใบรับรองฯ ยังไม่หมดอายุ 2,594 ราย