ครม.ทุ่ม 574 ล้านบาท เยียวยาผู้เลี้ยงหมู 56 จังหวัด ปศุสัตว์แจงผลตรวจพบโรค ‘เอเอสเอฟ’ ในไทย บิ๊กตู่สั่ง พณ.ลุยแก้ของแพง
เมื่อวันที่ 12 มกราคม กรณีปัญหาสินค้าราคาแพงได้สร้างผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะเนื้อหมูที่ราคาพุ่งเกินกิโลกรัมละ 200 บาท และล่าสุดราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มได้ปรับเพิ่มอีกฟองละ 20 สตางค์ ทำให้ร้านค้าต้องปรับราคาตาม ล่าสุดที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 มกราคมว่า ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 574.11 ล้านบาท เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) และโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า เป็นโรคติดต่อในสุกรที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่รุนแรง โดยจะจ่ายเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม-15 ตุลาคม 2564 ตาม ม.13(4) แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการประเมินตามกฎกระทรวงกำหนดค่าชดใช้ราคาสัตว์ที่ถูกทำลายอันเนื่องจากโรคระบาดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคระบาดหรือสัตว์หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหนะของโรคระบาด พ.ศ.2560 แล้ว
นายธนกรกล่าวเพิ่มเติมว่า การอนุมัติงบกลางในครั้งนี้ เป็นการของบประมาณเพื่อจ่ายเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ในพื้นที่ 56 จังหวัด ดังนี้ ภาคกลาง 10 จังหวัด ภาคตะวันออก 1 จังหวัด ภาคตะวันตก 3 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคเหนือ 12 จังหวัด ภาคใต้ 10 จังหวัด ทั้งนี้ มีเกษตรกรที่กรมปศุสัตว์ได้ทำลายสุกรไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงินค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย คิดเป็นเงิน จำนวน 574.11 ล้านบาท จำแนกเป็น เกษตรกร 4,941 ราย สุกร 159,453 ตัว
สั่งพณ.-กษ.แก้ของแพง
นายธนกรตอบคำถามสื่อมวลชนตามที่ พล.อ.ประยุทธ์มอบหมาย ชี้แจงถึงการการแก้ปัญหาราคาสินค้าแพงในปัจจุบันว่า นายกฯได้สั่งการให้มีการแก้ปัญหาราคาสินค้าแพงทุกชนิดอย่างเป็นระบบครบวงจรทั้งกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาต้นทุนที่แท้จริง นอกจากนี้ ยังได้ขอความร่วมมือภาคเอกชนด้วยเช่นกัน
เมื่อถามว่า นายกฯสั่งกำชับ พณ.และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) อย่างไรในการควบคุมและแก้ปัญหาราคาสินค้าแพง เช่น หมูสด ไข่ไก่ นายธนกรกล่าวว่า นายกฯชี้แจงว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้หามาตรการแก้ไขระยะสั้นและระยะยาว และขอความร่วมมือช่วยกันดูแลเพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชนในช่วงเวลานี้
เมื่อถามว่านายกฯมีความเห็นอย่างไรหลังมีการวิเคราะห์ว่า ถ้าแก้ปัญหาหมูแพง ราคาสินค้าต่างๆ แพง ไม่ได้ ประชาชนยังเดือดร้อนหนักหมูอาจจะล้มรัฐบาลได้ โฆษกประจำสำนักนายกฯกล่าวว่า เรื่องดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าเรื่องนี้ใครเป็นคนวิเคราะห์ รัฐบาล ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเป็นผู้วิเคราะห์และหาหนทางในการแก้ปัญหาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่จะนำเอาประเด็นเหล่านี้มาสร้างปัญหาเกี่ยวพันไปเรื่อย
บิ๊กตู่ฮึ่มขันนอตปลัด-อธิบดี
รายงานข่าวแจ้งว่า ในระหว่างการประชุม ครม.ที่พิจารณาวาระของกระทรวงเกษตรฯที่ขออนุมัติงบกลาง 574.11 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาและเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงความเห็นว่า ก่อนหน้านี้กรมปศุสัตว์ได้มีการของบประมาณเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2563 ขอมา 2-3 รอบแล้ว แสดงว่ามีการดำเนินการอยู่ รู้อยู่ว่าเกิดโรคระบาดขึ้น ดังนั้น ขอให้เร่งแก้ปัญหาทั้งระบบโดยเร็ว ปัญหาเกิดขึ้นตรงไหนให้แก้ไขปัญหาตรงนั้น หมูแพงเกิดจากอะไร ถ้าเป็นเพราะต้นทุนก็แก้ต้นทุน โรคระบาดก็ต้องรีบแก้ไขปัญหา และขอให้ระวังเรื่องโดนระงับการส่งออก 5 ปี ขอให้ พณ.และกระทรวงเกษตรฯดูแลเป็นพิเศษ มีหลายคนบอกผมว่าให้ย้ายอธิบดีกรมปศุสัตว์ ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับเขาด้วย ให้เขาชี้แจงแถลงข่าวให้ประชาชนรู้ด้วย และขอให้รัฐมนตรีไปกำชับปลัดกระทรวงและอธิบดีด้วยว่า ใครรับผิดชอบอะไรก็ขอให้ดูด้วย เพราะมีผลต่อตำแหน่งทั้งปัจจุบันและอนาคต แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับเขา
เฉลิมชัย’แย้มพัฒนาวัคซีน
ขณะที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ ได้ชี้แจงว่า กระทรวงเกษตรฯได้สรุปเรื่องโรคระบาดในหมูตลอด 3 ปีที่ผ่านมา และจะแถลงโดยเร็วที่สุด รวมถึงกำลังพิจารณาเกี่ยวกับการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศจะดำเนินการได้หรือไม่ เพราะต้องระวังกระทบกับผู้ค้ารายย่อย แต่ถ้าทำได้จะช่วยในเรื่องราคาเนื้อหมูแพงได้ อย่างไรก็ตามมีข่าวดี เนื่องจากที่ผ่านมาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรยังไม่เคยมีวัคซีนออกมาไม่มีใครผลิตได้เป็นร้อยๆ ปี กระทรวงเกษตรฯกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมกันพัฒนา น่าจะผลิตได้เป็นที่แรกในโลก หากเรื่องนี้ประสบความสำเร็จจะถือเป็นเรื่องที่ดี
ชี้หากเสียหายพีคสุด5.5 หมื่นล.
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้เสนอกระทรวงพาณิชย์นำเข้าหมูมาบริโภคภายในประเทศก่อน อาทิ หมูจากประเทศเพื่อนบ้านที่ราคาถูก สามารถนำเข้ามาได้ภายใน 3 วัน ขอเพียงกระทรวงพาณิชย์อนุมัติการนำเข้าเท่านั้น ส่วนที่พบโรคเอเอสเอฟในไทย เบื้องต้นไม่กระทบการส่งออกเพราะหมูไทยไม่เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ จึงไม่มีให้ส่งออกแล้ว
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรฯกล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งสมมุติฐาน 4 กรณี คือ กรณีเกิดโรคระบาด 30% ของสุกรที่เลี้ยง จะเกิดความสูญเสียสำหรับเกษตรกรรายย่อย 5,133 ล้านบาท เกษตรกรรายใหญ่ 11,544 ล้านบาท รวม 16,678 ล้านบาท กรณีเกิดโรคระบาด 50% เสียหายเกษตรกรรายย่อย 8,556 ล้านบาท เกษตรกรรายใหญ่ 19,236 ล้านบาท รวม 27,792 ล้านบาท กรณีเกิดโรคระบาด 80% เสียหายเกษตรกรรายย่อย 13,690 ล้านบาท เกษตรกรรายใหญ่ 30,777 ล้านบาท รวม 44,468 ล้านบาท และกรณีเกิดโรคระบาด 100% เสียหายเกษตรกรรายย่อย 17,112 ล้านบาท เกษตรรายใหญ่ 38,472 ล้านบาท รวม 55,585 ล้านบาท
ปศุสัตว์เจอเอเอสเอฟที่โรงฆ่า
นายสัตวแพทย์ (นสพ.) สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านวิชาการป้องกัน ควบคุม และกำจัดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (เอเอสเอฟ) กล่าวถึงสถานการณ์โรคเอเอสเอฟในไทยว่า จากการจัดชุดเฉพาะกิจลงตรวจสอบสภาวะโรคในพื้นที่เสี่ยง และสุ่มตรวจสอบเพิ่มเติมในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น ระหว่างวันที่ 8-9 มกราคมที่ผ่านมา รวม 10 ฟาร์ม 305 ตัวอย่าง และโรงฆ่าสัตว์ 2 แห่ง 4 ตัวอย่าง รวม 309 ตัวอย่าง จาก จ.ราชบุรีและนครปฐม พบเชื้อเอเอสเอฟ 1 ตัวอย่าง จากพื้นผิวสัมผัสบริเวณโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งที่มาจาก จ.นครปฐม ยืนยันผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ขณะนี้ชุดเฉพาะกิจได้ลงพื้นที่เข้าสอบสวนโรคทางระบาดวิทยาถึงแหล่งที่มาของสุกรและสาเหตุเพื่อควบคุมโรคโดยเร็วต่อไป เพื่อลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ยืนยันว่าที่ผ่านมา กรมมีการตรวจสอบข้อมูลต่อเนื่อง ไม่ได้นิ่งนอนใจ ไม่มีการปกปิด ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการตรวจสอบต่อเนื่อง
เล็งประกาศเขตโรคระบาด
นสพ.สรวิศกล่าวว่า การดำเนินงานกรณีตรวจพบโรคในประเทศ กรมปศุสัตว์จะประกาศเป็นเขตโรคระบาดและมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบจุดที่พบโรค และจะพิจารณาทำลายสุกรที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรค หรือมีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยากับฟาร์มที่เป็นโรคและจ่ายค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย สำหรับการดำเนินงานในพื้นที่อื่นที่ไม่อยู่ในรัศมีการควบคุมโรคการเคลื่อนย้ายสุกรทุกตัววัตถุประสงค์จะต้องได้รับอนุญาตจากสัตวแพทย์ โดยคำนึงถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมทั้ง การขออนุญาตนำสุกรเข้ามาเลี้ยงต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ขณะเดียวกันกรมปศุสัตว์จะต้องแจ้งการพบโรคไปยังองค์การสุขภาพสัตว์โลก (โอไออี) เพื่อแจ้งเตือนให้ประเทศสมาชิกทราบ ล่าสุดได้มีการประชุมคณะกรรมการวิชาการป้องกันควบคุมโรคเอเอสเอฟแล้ว และเพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันและควบคุมโรคให้สงบโดยเร็ว กรมเห็นควรประกาศประเทศไทยพบโรคเอเอสเอฟ และรายงานไปยังโอไออีต่อไป
โรงเชือดโวย-จี้ตรวจเลือด
ที่ จ.นครปฐม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์หรือโรงหมู ต่างไม่พอใจ กรณีการตรวจพบเชื้อ ASF ทั้งนี้ ตัวแทนผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์รายหนึ่งเปิดเผยว่า การเข้าตรวจหรือการเข้ามาเก็บตัวอย่างหาเชื้อโรค โดยการใช้ผ้าก๊อซมาเช็ด ซับน้ำ เลือดจากพื้นในโรงฆ่าสัตว์ แล้วนำไปตรวจวิเคราะห์โรคนั้น ไม่น่าจะเป็นการกระทำที่ถูกต้องที่สุด เพราะโรงฆ่าสัตว์มีทั้งยานพาหนะขนส่งสินค้า อาจจะมีเชื้อโรคต่างๆ ปนเปื้อนที่พื้นได้ การจะตรวจหาเชื้อโรคที่ร้ายแรงขนาดนี้ต้องตรวจเลือดสัตว์ ไม่ใช่มาสุ่มเอาสารคัดหลั่งจากพื้นในโรงเชือดแบบนี้
พณ.ตรึงราคาไก่6ด.จูงใจแทนหมู
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กล่าวถึงการแก้ปัญหาราคาเนื้อหมูแพงว่า เพื่อลดค่าใช้จ่ายประชาชน กรมได้หารือกับสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อและไก่ไข่ ขอให้ตรึงราคาในปัจจุบันต่อเนื่อง 6 เดือน (กลางเดือนมกราคม-กลางเดือนมิถุนายน 2565) โดยราคาจำหน่ายไก่มีชีวิต 33.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ไก่สด (รวม/ไม่รวมเครื่องใน) 60-65 บาทต่อ กก. น่องติดสะโพก/น่อง/สะโพก 60-65 บาทต่อ กก. เนื้ออก 65-70 บาทต่อ กก. ปัจจุบันคนไทยบริโภคไก่ 1.32 ล้านตันต่อปี ผลผลิตไก่รวม 2.9 ล้านตันต่อปี และส่งออก 1 ล้านตันต่อปี
นอกจากนี้ จะขอความร่วมมือสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่และกรมปศุสัตว์ ตรึงราคาไข่ไก่ โดยข้อมูลต้นทุนเลี้ยงไข่ไก่อยู่ที่ 2.85 บาทต่อฟอง ดังนั้น จะหารือโครงสร้างต้นทุนการเลี้ยง ผลผลิต หลังสมาคมประกาศปรับราคาไข่คละเป็น 3 บาทต่อฟองไก่เนื้อ ไข่ไก่ ไม่ได้ขาดตลาด ผลผลิตยังสูงเพียงพอกับบริโภคและการค้า ตอนนี้มีเพียงเนื้อหมูที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยจากปกติกว่า 30% แต่ความต้องการยังสูงทำให้ราคาแพงขึ้น ปัจจุบันราคาซื้อขายจริงของสุกรมีชีวิตอยู่ที่ 108 บาทต่อ กก. ต่ำกว่าราคาที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรประกาศซึ่งอยู่ที่ 110 บาทต่อ กก.
ของบกลางขายสินค้าถูก1.5พันจุด
นายวัฒนศักย์กล่าวว่า พณ.จะทำมาตรการอื่นประกอบ ได้แก่ 1.การเปิดจุดจำหน่ายเนื้อหมู ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และสินค้าจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน โดยจะของบกลางรัฐบาลเพิ่มจุดจำหน่ายไม่น้อยกว่า 1,500 จุดทั่วประเทศ และกำลังหารือเปิดจุดขายตามสถานีน้ำมันที่มีรวม 1,000 แห่ง 2.ร่วมกับผู้ผลิตสินค้าจัดทำสินค้าราคาประหยัดโครงการธงฟ้า 3.จับคู่วัตถุดิบอาหารสัตว์กับเกษตรกรผู้เลี้ยง จัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกร ทั้งนี้ ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้น อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์วัตถุดิบหลักในอาหารสัตว์ ราคาขึ้นต่อเนื่อง จากเฉลี่ย 8.87 บาทต่อ กก. ในปลายปี 2563 เป็น 9.95 บาทต่อ กก. ในปี 2564 และ 10.66 บาทต่อ กก. ในต้นปี 2565
นายวัฒนศักดิ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้กรมติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและอาหารปรุงสำเร็จว่ามีการฉวยโอกาสปรับราคาเกินสมควร และอาจเพิ่มมาตรการดูแล อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบต้นทุนโครงสร้างสินค้า อาทิ ก๊าซหุงต้ม เนื้อหมูบางชนิดที่ขึ้นราคา ยังเป็นสัดส่วนไม่สูงจนกระทบต่อภาพรวมการปรับราคาอาหารปรุงสำเร็จต้องขึ้นราคาเกินจริง ส่วนราคาน้ำมันปาล์มที่ขยับขึ้น เป็นปลายฤดูผลิต เดือนกุมภาพันธ์ผลผลิตใหม่จะออกสู่ตลาด ราคาจะอ่อนตัวลงไม่น่ากังวล
กบง.ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม-เอ็นจีวี
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานที่การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า กบง.ได้พิจารณาจากสถานการณ์ราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ที่แม้ต้นทุนจริงจะสูงถึง 412 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (กก.) แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลต่อค่าครองชีพประชาชน เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติม จึงมีมติคงราคาเดิมที่ 318 บาทต่อถัง 15 กก. ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 มกราคมนี้ นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คงส่วนลดราคาก๊าซแอลพีจีแก่ผู้มีรายได้น้อย ร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐถึงวันที่ 31 มีนาคม เช่นกัน