นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า สืบเนื่องจากปัญหาอาหารไก่ไข่ราคาแพง อันเป็นผลจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ภาวะภัยแล้ง โรคและแมลงศัตรูพืช ทำให้ปริมาณวัตถุดิบมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ราคาวัตถุดิบมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนด้านอาหารไก่ไข่ที่สูงขึ้น รวมทั้งมีความต้องการวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้นของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ จะยังคงส่งผลต่อราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้คงสูงอยู่ต่อเนื่องถึงปีหน้า
จากปัญหาดังกล่าว จึงได้สั่งการให้สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ หาแนวทางแก้ไขโดยการปรับสูตรอาหารเพื่อลดต้นทุนอาหารไก่ไข่ เน้นการให้อาหารที่มีความแม่นยำ (precision feeding) ซึ่งหมายถึงการจัดหาอาหารในปริมาณและองค์ประกอบโภชนะที่ตรงกับความต้องการของสัตว์เพื่อการดำรงชีพและการผลิตการให้ผลผลิตของสัตว์ในแต่ละช่วงอายุ จะทำให้สัตว์สามารถนำโภชนะที่ได้รับจากอาหารที่กินนำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด มีส่วนเหลือทิ้ง (ส่วนที่สัตว์ย่อยและดูดซึมนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้) น้อยที่สุด เพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหาร ลดต้นทุนการผลิต ในขณะที่สัตว์สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่ดีได้ การประกอบสูตรอาหารบนพื้นฐาน precision feeding สามารถทำได้โดยกระบวนการต่างๆ ดังนี้ 1) การคำนวณสูตรอาหารไก่ไข่ให้มีปริมาณพลังงานและสารอาหารเพียงพอและตรงกับความต้องการของไก่ไข่ โดยใช้วัตถุดิบที่เกษตรสามารถหาได้ในแต่ละพื้นที่ นำไปปรับใช้ในการผลิตอาหารไก่ไข่ ดังตัวอย่างสูตรอาหารที่แนะนำให้เกษตรกรใช้การปรับใช้ข้าวเปลือก เป็นแหล่งพลังงานทดแทน ในพื้นที่เขตภาคกลาง เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี อยุธยา และอ่างทอง เป็นต้น 2) ปรับลดปริมาณอาหารที่สัตว์กิน แต่สัตว์ยังคงได้รับสารอาหารเพียงพอต่อการเติบโตและให้ผลผลิต โดยการประกอบสูตรอาหารที่มีพลังงานและโปรตีนสูงขึ้น หรือการลดโปรตีนแต่ปรับสมดุลกรดอะมิโนจำเป็นสำหรับไก่ไข่ เช่น ตัวอย่างสูตรอาหารที่แนะนำให้เกษตรกรใช้ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ และ น่าน ซึ่งเป็นการใช้วัตถุดิบที่เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวสามารถหาได้ ในราคาที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนค่าอาหารไก่ไข่ลงได้ประมาณ 2 - 3 บาท/กิโลกรัม
นอกจากนั้น เกษตรกรจะต้องหมั่นดูแลการให้อาหารสัตว์เพื่อไม่ให้เกิดการตกหล่นสูญเสีย เช่น ปรับปรุงลักษณะของรางอาหาร ความตื้นลึกของราง ตลอดจนขนาดความกว้างของรางอาหารให้เหมาะสมกับชนิดและขนาดของสัตว์เพื่อสามารถป้องกันไม่ให้สัตว์คุ้ยเขี่ยหรือถ่ายมูลลงในรางอาหาร การให้อาหารสัตว์ในแต่ละครั้ง ควรให้อาหารแต่ละครั้งพอดีกับที่สัตว์กินหรือให้อาหารที่ละน้อยแต่ให้อาหารบ่อยครั้งขึ้น ก็จะช่วยลดการสูญเสียของอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งในการลดต้นทุนค่าอาหารและการผลิตสัตว์