วันที่ 14 กรกฎาคม 2563 เวลา 10.00 น.
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ และภาคีเครือข่ายรวม 17 หน่วยงาน ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) การกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness) ของประเทศไทย พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์ธนวัฒน์ พันธุ์สนิท ผู้อำนวยการสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ ผู้อำนวยการกองความร่วมมือด้านการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ผู้แทนกองสารวัตรและกักกัน ผู้แทนองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ กรมการสัตว์ทหารบก หน่วยม้าทรงประจำพระองค์ฯ กองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาม้าแข่งไทย สมาคมกีฬาขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย นายกสัตวแพทยสภา ประธานภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย สมาคมสัตวแพทย์สวนสัตว์และสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย มูลนิธิม้าไทย และชมรมสัตวแพทย์บำบัดโรคม้า
การลงนามใน MOU เพื่อเป็นการยืนยันความร่วมมือและบูรณาการระหว่างหน่วยงานในการสนับสนุนกิจกรรมดำเนินการมาตรการควบคุมและกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าให้หมดไปจากประเทศไทย ทั้งด้านการสร้างความตระหนักในการร่วมมือด้านนโยบายและการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม บูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในด้านทรัพยากร บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ และด้านงบประมาณให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อให้ประเทศไทยได้รับการรับรองเป็นประเทศที่ปลอดจากโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าจาก OIE ภายในปี 2565 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดในการดำเนินการตามเป้าหมายให้สำเร็จคือ ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership ดังนั้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของความร่วมมือ PPP กรมปศุสัตว์จึงได้จัดพิธีลงนามร่วมกันในเอกสารบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ขึ้น เพื่อเป็นการยืนยันความร่วมมือกันของภาคีเครือข่ายแต่ละภาคส่วนจะปฏิบัติตามกรอบเวลา 3 ระยะคือ ระยะเผชิญเหตุ ระยะเฝ้าระวังและป้องกันการอุบัติซ้ำ และระยะขอคืนสภาพปลอดโรค AHS ของประเทศไทยจาก OIE และร่วมบูรณาการความรับผิดชอบตามเงื่อนไขที่กำหนดในหนังสือฉบับนี้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ ทั้งในด้านนโยบายและการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสารและการประชาสัมพันธ์ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลประชากรม้า การขึ้นทะเบียน และความร่วมมือด้านวิชาการองค์ความรู้ในการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ เพื่อยืนยันความร่วมมือที่ได้รับจากทุกภาคส่วนจะดำเนินไปอย่างเป็นรูปธรรมที่ยั่งยืน มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถกำจัดโรคนี้ให้หมดไปจากประเทศไทย และทำให้ประเทศไทยได้รับการรับรองให้เป็นประเทศที่ปลอดจากโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าจาก OIE ภายในปี 2565 ได้ตามเป้าหมายต่อไป
ณ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรุงเทพฯ