อธิบดีกรมปศุสัตว์ประชุมผู้บริหารกรมปศุสัตว์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ครั้งที่ 4 เร่งติดตามผลงาน ควบคุมโรค เน้นการทำงานเชิงรุก และสร้างความเชื่อมั่นสินค้าปศุสัตว์ไทย วันที่ 1 มิถุนายน 2563 เวลา 9.30 น.
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุมผู้บริหารกรมปศุสัตว์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ครั้งที่ 4 พร้อมด้วยรองอธิบดีกรมปศุสัตว์ 4 ท่าน นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ นายสุรเดช สมิเปรม นายสัตวแพทย์เศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ และนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล ปศุสัตว์เขต 1-9 (ผ่านระบบ conference) ผู้อำนวยการกอง/สำนัก หัวหน้ากลุ่ม/ฝ่าย และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง สาระสำคัญ ดังนี้
1. ความก้าวหน้าในการจัดซื้อจัดจ้าง และผลการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ให้ทุกเขต ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมาย และให้ทำแผนและการใช้จ่ายเงินไตรมาส 3 และ 4 ส่งกองคลังภายในวันที่ 4 มิย. เพื่อรวบรวมส่งสำนักงบประมาณ
2. ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนนโยบายภาคการเกษตร ปี 2563 ของ รมว.กษ.
2.1 ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน (เกษตรทฤษฎีใหม่ / เกษตรอินทรีย์ / เกษตรปลอดภัย)
2.2 ใช้ระบบตลาดนำการผลิต (ขยายช่องทางการตลาดและจัดหาตลาดใหม่เพิ่ม / Smart Farmer / การแปรรูปสินค้าเกษตร / สร้างตลาดออนไลน์) ปรับตามรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ "DLD New Normal"
2.3 ลดต้นทุนการผลิต (ปรับปรุงพันธุ์ / ผสมเทียม / แปลงใหญ่)
2.4 การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร (เลี้ยงสัตว์ตามความต้องการของตลาด : MOU / ควบคุมและป้องกันโรคสัตว์ : AHS, ASF, AI, Rabies, FMD)
ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมมือร่วมแรงกัน โดยเฉพาะผู้เลี้ยงม้าที่ให้ความร่วมมือตามมาตรการ ช่วยควบคุมสถานการณ์โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า AHS และไม่มีม้าตายต่อกัน 7 วันแล้ว สถานการณ์เกิดโรคใน 12 จังหวัด ผู้เลี้ยงม้าจำนวน 119 ราย มีม้าป่วยสะสม 594 ตัว มีม้าตาย 552 ตัว (ข้อมูลวันที่ 31 พค. 63) ซึ่งมาตรการสำคัญ ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ การควบคุมการเคลื่อนย้ายม้า การกำจัดแมลงพาหะ และการใช้วัคซีนในพื้นที่รอบจุดเกิดเหตุ 50 กิโลเมตรและพื้นที่ที่เสี่ยงสูงตามหลักการวิเคราะห์ของระบาดวิทยา โดยฉีดไปแล้วประมาณ 6,000 ตัว และยังไม่มีรายงานม้าตายจากการฉีดวัคซีน
2.5 จัดทำข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตร (ทะเบียนเกษตรกร / Zoning by Agri-Map)
สรุปข้อมูลเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ปีงบประมาณ 2563 (วันที่ 20 พค. 63) จำนวน 3,337,435 ราย ประกอบด้วยการเลี้ยงโคเนื้อ โคนม กระบือ สุกร ไก่เนื้อ ไก่ไข่ แพะ แกะ และเป็ด ต้องขอขอบคุณและชื่นชมเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ปศุสัตว์จังหวัดและอำเภอทุกท่าน ที่ทำงานอย่างเข้มแข็ง ในการขึ้นทะเบียนช่วยเหลือเกษตรกร
2.6 พัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)
3. การปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) และการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
4. ผลการดำเนินงานปี 2563 รอบ 8 เดือน (ตุลาคม 2562 – พฤษภาคม 2563) ให้สำนัก/กอง ที่เป็นเจ้าภาพโครงการ/กิจกรรม ตรวจสอบผลการดำเนินงานทุกเดือน และให้ปศุสัตว์เขต มอบหมายเจ้าหน้าที่ตรวจสอบผลการดำเนินงานของจังหวัด อำเภอ และศูนย์ฯ/สถานที่ ในพื้นที่
5. คดีเด่นและการบังคับใช้กฎหมาย
6. โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประกอบด้วย ผลการจัดสรรสิทธิและพื้นที่การจำหน่ายนมโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2563 ในพื้นที่ 5 กลุ่ม รวมจำนวนผู้ประกอบการ 72 ราย ปริมาณน้ำนมโคที่ได้รับสิทธิรวม 1,052.650 ตัน/วัน แนวทางการดำเนินงานโครงการฯ เพื่อรองรับสถานการณ์ COVID-19 และการทำระบบฐานข้อมูล Thai School Milk เป็นเครื่องมือช่วยในการจัดการข้อมูลการดำเนินงานโครงการฯ สามารถใช้งานผ่าน web browser บน PC Tablet และ Smartphone ข้อมูลประกอบด้วย ผลการจัดสรรสิทธิ การทำสัญญา ข้อมูลสายส่งนม การส่งนมโรงเรียน การรายงานปัญหา และการบริหารจัดการน้ำนมดิบของผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ ให้ทุกเขต ทุกจังหวัด และทุกหน่วยงานดำเนินการอย่างเข้มงวดทั้งด้านการผลิต คุณภาพมาตรฐาน การควบคุมโรคด้านสุขภาพสัตว์ การบริหารงานรวมด้านงบประมาณและบุคลากรด้วย เน้นการทำงานเชิงรุก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่เกษตรกรและประชาชนในสินค้าปศุสัตว์ไทยได้คุณภาพ มาตรฐานสากล มีความปลอดภัยด้านอาหารต่อการบริโภคทั้งภายในประเทศและการส่งออกไปต่างประเทศ ผลิตสินค้าปศุสัตว์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ณ ห้องประชุมพระพิรุณ ตึกอำนวยการ ชั้น 1 กรมปศุสัตว์