นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุมผู้บริหารกรมปศุสัตว์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ครั้งที่ 2 พร้อมด้วยรองอธิบดีกรมปศุสัตว์ 4 ท่าน (นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์, นายสุรเดช สมิเปรม, นายสัตวแพทย์เศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ และนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล) ผู้อำนวยการกอง/สำนัก ปศุสัตว์เขต (ผ่านระบบ video conference) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สาระสำคัญ ดังนี้
1. สถานการณ์ และมาตรการแนวทางในการป้องกันและควบคุมโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า African Horse Sickness: AHS โรค AHS เป็นโรคที่เกิดในม้า ลา ล่อ และม้าลาย มีแมลงเป็นพาหะในการก่อโรค ขอให้ทุกจังหวัดมีการกักกันสัตว์ ควบคุมการเคลื่อนย้าย และเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มงวด ให้มีการสร้างมุ้งกันแมลงพาหะเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค เนื่องจากใกล้เข้าหน้าฝนจะมีแมลงมาก และพิจารณาการใช้วัคซีนในการป้องกันโรคสอดคล้องตามหลักสากล องค์การสุขภาพสัตว์โลก OIE
2. สถานการณ์ไข่ไก่ในประเทศไทย ให้มีปริมาณผลผลิตที่เพียงพอความต้องการ และรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ ให้สมดุล
3. แผนการใช้จ่ายงบประมาณตามมาตรการด้านงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสถานการณ์ภัยแล้ง และวงเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จำนวน 6,154.1528 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 6.1846 ล้านบาท (0.10%) โดยปรับเพิ่มงบบุคลากร งบลงทุน และงบรายจ่ายอื่นๆ และปรับลดงบดำเนินงานและงบเงินอุดหนุน
4. ผลการดำเนินงานปี 2563 รอบ 6 เดือน (ตุลาคม 2562 – มีนาคม 2563) ให้สำนัก/กอง ที่เป็นเจ้าของโครงการ/กิจกรรม ตรวจสอบผลการดำเนินงานทุกเดือน และปศุสัตว์เขต มอบหมายเจ้าหน้าที่ตรวจสอบผลการดำเนินงานของจังหวัด อำเภอ และศูนย์/สถานีในพื้นที่
5. ความก้าวหน้าในการจัดซื้อจัดจ้าง และผลการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563
6. ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนนโยบายภาคการเกษตรปี 2563 ของ รมว.กษ.
6.1 การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน (เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ และเกษตรปลอดภัย)
6.2 ใช้ระบบการตลาดนำการผลิต (ขยายช่องการตลาดและจัดหาตลาดใหม่เพิ่ม Smart Farmer การแปรรูปสินค้าเกษตร และการสร้างตลาดออนไลน์)
6.3 การลดต้นทุนการผลิต (การปรับปรุงพันธุ์ การผสมเทียม และการรวมกลุ่มทำแปลงใหญ่)
6.4 การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร (การเลี้ยงสัตว์ตามความต้องการตลาด เช่น การทำความร่วมมือข้อตกลงร่วมกัน MOU และการควบคุมและป้องกันโรคสัตว์ เช่น โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โรคไข้หวัดนก โรคพิษสุนัขบ้า และโรคปากและเท้าเปื่อย)
6.5 การจัดทำข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตร (ทะเบียนเกษตรกร และ Zoning by Agri-Map)
6.6 การพัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)
ทั้งนี้ ให้ทุกหน่วยงานดำเนินงานอย่างเข้มงวด เร่งดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมาย และรายงานผลให้กรมเป็นระยะๆ
ณ ห้องประชุมพระพิรุณ ตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์ค ในวันที่ 7 เมษายน 2563 เวลา 09.00 น.